วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ปราสาทมรดกที่ล้ำค่า.....ของจังหวัดสุรินทร์


ปราสาทตาเมือน



          ปราสาทตาเมือน (อังกฤษ: Prasat Ta Muen, Prasat Ta Moen) หรือ ปราสาทบายกรีม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลบ้านตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดเล็กที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

          ปราสาทตาเมือน อย่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง

ปราสาทตาเมือนโต๊ด


          ปราสาทตาเมือนโต๊ด (​เขมร: ប្រាសាទតាមាន់តូច ตาม็วนโตจ - ตาไก่เล็ก) ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน     (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหลังหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน


          ปราสาทตาเมือนโต๊ดอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 750 เมตร และอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 390 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ เชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยศาลหรือสถานรักษาพยาบาลของชุมชนหรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 

ปราสาทตาเมือนธม


          ปราสาทตาเมือนธม (เขมร: ប្រាសាទតាមាន់ធំ ตาม็วนธม - ตาไก่ใหญ่) ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน          (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลังเรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธมปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

          ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม

          ตัวปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้

          ปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปราสาทประธาน มีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีบรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ

          ปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนเขมรมากที่สุด การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก 

ปราสาทตระเปียงเตีย

 

          ปราสาทตระเปียงเตีย หรือ ปราสาทตะเปียงเตีย ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลตะเปียงเตีย อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะเป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 4 ชั้น ส่วนยอดทำเป็นรูปดอกบัวตูม เมื่อพิจารณาจากลัษณะสถาปัตยกรรม พบว่าเป็นแบบลาวร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          ตระเปียงเตีย เป็นภาษาเขมรท้องถิ่น คำว่า "ตระเปียง" แปลงว่าบ่อ สระ หนอง หรือหลุมที่มนุษย์ขุดขึ้น หรืออาจจะหมายถึงบารายที่ปราสาทขอมทุกแห่งมักจะมี หรืออาจจะเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนคำว่า "เตีย" หมายถึง เป็ด แปลรวมกันได้ความว่า ตระเปียงเตีย แปลว่า หนองเป็ด ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอดีตบริเวณดังกล่าวมีนกเป็ดน้ำอพยพย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวก็เป็นได้

ปราสาทยายเหงา

ที่ตั้ง

          บ้านพูนทราย ตำบลบ้านชบ อำเภอสังขะ ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมถนน สายโชคชัย - เดชอุดม (ทางหลวงหมายเลข 24) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 189 - 190 จะมีป้าย บอกทาง จากถนนใหญ่เข้าไป เป็นทางคอนกรีต ปนทรายประมาณ 800 เมตร

ลักษณะปราสาท

          ปราสาทยายเหงา เป็นศาสนสถาน แบบขอม ที่ประกอบด้วยปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่เรียงกัน ในแนว ทิศเหนือ-ใต้ หันหน้า ไปทาง ทิศตะวันออก องค์ปรางค์ก่อด้วยอิฐ ตั้งอยู่บน ฐานศิลาแลง มีการแกะสลักอิฐ เป็นลวดลาย เช่น ที่กรอบหน้าบัน เป็นรูปมกร (สัตว์ผสม ระหว่างสิงห์ ช้าง และปลา) คาบนาค 5 เศียร

           จากลักษณะ แผนผังของอาคาร ปราสาทยายเหงา น่าจะประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งเรียงกัน แต่ปัจจุบัน เหลือเพียง 2 องค์เท่านั้น ภายในบริเวณปราสาท พบกลีบขนุนยอดปรางค์ เสาประดับกรอบประตู ฯลฯ แกะสลักจากหินทราย จัดแสดงไว้ อย่างเป็นระเบียบ บริเวณด้านหน้าปราสาท

ตำนานปราสาทยายเหงา

          สมัยก่อนมีคุณยายคนหนึ่งสามีไปออกศึกสงครามนานนมก็ไม่ได้กลับมาสักที ยายอยู่รอที่บ้านก็เลยสร้างปราสาทคอย แต่ไม่ปรากฏว่ายายได้พบกับตาหรือไม่ และปราสาทก็ดูเหมือนจะสร้างไม่แล้วเสร็จ ตำนานนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าต่อๆ กันมา

          ปราสาทยายเหงานี้มีภูมิลำเนาที่ บ้านสังขะ ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะเป็นปรางปราสาท ปรากฏอยู่ 2 หลัง หากดูตามการก่อสร้างอาจมีอีก 1 ปรางปราสาทแต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ก่อด้วยอิฐ เป็นศิลปะแบบเขมร สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันปราสาทยายเหงาได้รับการบูรณะ ขุดแต่งแล้วเสร็จตามโครงการเมื่อไม่นานมานี้

ปราสาทภูมิโปน

ที่ตั้ง

          บ้านภูมิโปน ตำบลดม อำเภอสังขะ

การเดินทาง

          จากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สุรินทร์ - สังขะ) ระยะทาง 49 กิโลเมตร จากแยกอำเภอสังขะ เข้าทางหลวง หมายเลข 2124 (สังขะ - บัวเชด) ตรงต่อไป จนถึง ชุมชนบ้านภูมิโปน ระยะทางอีก 10 กิโลเมตร จะเห็นปราสาท ตั้งอยู่ริมถนน ด้านซ้ายมือ

ลักษณะปราสาท

          ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วย โบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13

         ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็ก ที่ตั้งตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัย หลังปราสาทภูมิโปน คงจะสร้างขึ้น เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบ รูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์ อยู่ภายในองค์ปรางค์

          แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมา จากแท่นฐานรูปเคารพ ในห้องกลาง ติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง

ตำนานปราสาทภูมิโปน

          ตำนาน เนียง ด็อฮ ทม ราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย เป็นตำนานของปราสาทภูมิโปน อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มีเรื่องเล่าว่า ที่สระลำเจียก ห่างจากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 200 เมตร มีกลุ่มต้นลำเจียกขึ้นเป็นพุ่มๆ ต้นลำเจียกที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยมีดอกเลย ในขณะที่ต้นอื่นๆนอกสระต่างก็มีดอกปกติ ความผิดปกติของต้นลำเจียกที่สระลำเจียกหน้าปราสาทจึงเป็นที่มาของตำนานปราสาทภูมิโปน การสร้างเมืองและการลี้ภัยของราชธิดาขอม

          กษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่าปราสาทภูมิโปน ต่อมาเมื่อเมืองหลวงเกิดความไม่สงบ มีข้าศึกมาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมจึงส่งพระราชธิดาพร้อมไพร่พลจำนวนหนึ่งมาหลบซ่อนลี้ภัยที่ภูมิโปน พระราชธิดานั้นมีพระนามว่า พระนางศรีจันทร์หรือ เนียง ด็อฮ ทม แต่คนทั่วไปมักเรียกนางว่า พระนางนมใหญ่

          กล่าวถึงเจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งได้ส่งพรานป่าเจ็ดคน พร้อมเสบียงกรังและช้าง 1 เชือก ออกล่าจับสัตว์ป่าเพื่อจะนำมาเลี้ยงในอุทยานของพระองค์ พรานป่ารอนแรมจนมาหยุดพักตั้งห้างล่าสัตว์อยู่ที่ ตระเบีย็ง เปรียน แปลว่าหนองน้ำของนายพราน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านตาพรม ในปัจจุบันในที่สุดกลุ่มพรานสามในเจ็ดคน ก็ดั้นด้นจนไปพบปราสาทภูมิโปน และไปได้ยินกิตติศัพท์ความงามของพระนางศรีจันทร์เข้า พรานทั้งเจ็ดจึงได้ปลักลอบแอบดูพระนางศรีจันทร์สรงน้ำ และเห็นว่านางมีความงามสมคำร่ำลือจริง จึงรีบเดินทางกลับเพื่อไปรายงานพระราชา พระราชายินดีปรีดามาก รีบจัดเตรียมกองทัพเพื่อไปรับนางมาเป็นพระชายาคู่บารมี

          ฝ่ายพระนางศรีจันทร์หลังจากวันที่ไปสรงน้ำก็เกิดลางสังหรณ์ กระสับกระส่ายว่ามีคนมาพบที่ซ่อนของนางแล้ว เมื่อบรรทมก็ฝันว่าได้ทำกระทงเสี่ยงทาย ใส่เส้นผมเจ็ดเส้น อันมีกลิ่นหอมและเขียนสาส์นใจความว่าใครเก็บกระทงของนางได้ นางจะยอมเป็นคู่ครอง ในกระทงยังให้ช่างเขียนรูปของนางใส่ลงไปด้วย เมื่อตื่นขึ้นมานางจึงได้จัดการทำตามความฝัน(ด้วยการที่นางเอาผมใส่ในผอบเครื่องหอม ผมนางจึงหอม นางจึงได้ชื่อว่า เนียง ช็อก กระโอบ หรือนางผมหอมอีกชื่อหนึ่ง) และนำกระทงไปลอย ณ สระลำเจียกหน้าปราสาท กระทงของนางได้ลอยไปยังอีกเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองโฮลมาน และราชโอรสของเมืองนี้ได้เก็บกระทงของนางได้ ทันทีที่เจ้าชายเปิดผอบก็หลงรักนางทันที เจ้าชายโอลมานนั้นมีรูปร่างไม่หล่อเหลา แต่มีฤทธานุภาพมากในเรื่องเวทมนตร์คาถาและได้ชื่อว่ารักษาคำสัตย์เป็นที่ตั้ง พระองค์จึงไปสู่ขอนางตามประเพณีเพราะเป็นผู้เก็บผอบได้ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อพระนางศรีจันทร์ได้เห็นรูปร่างของเจ้าชายโฮลมานนางจึงได้แต่นิ่งอึ้งและร้องไห้ เจ้าชายโฮลมานทรงเข้าพระทัยดีเพราะรู้ตัวว่าตัวเองมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่ด้วยความรักที่พระองค์มีต่อพระนางศรีจันทร์ พระองค์จึงไม่บังคับที่จะเอาตัวนางมาเป็นชายา กลับช่วยพระนางขุดสระสร้างกำแพงเมือง และสร้างกลองชัยเอาไว้ เพื่อให้พระนางตียามมีเหตุเดือดร้อนต้องการให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์จะมาช่วยเหลือนางโดยทันที โดยห้ามตีด้วยเหตุไม่จำเป็นเป็นอันขาด

           กล่าวถึงชายหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มาหลงรักพระนางศรีจันทร์ นั่นคือบุญจันทร์นายทหารคนสนิท ที่พระราชบิดาของพระนางศรีจันทร์ไว้วางพระราชหฤทัย ให้รับใช้ใกล้ชิดพระนางศรีจันทร์ ด้วยความใกล้ชิดทำให้บุญจันทร์หลงรักพระนางศรีจันทร์ แต่พระนางศรีจันทร์ก็ไม่ได้มีใจตอบกับบุญจันทร์ ยังคงคิดกับบุญจันทร์แค่เพื่อนสนิทเท่านั้น วันหนึ่งบุญจันทร์ได้เห็นกลองชัยที่เจ้าชายโฮลมานให้พระนางไว้ ก็นึกอยากตี จึงไปร่ำร้องกับพระนางทุกเช้าเย็น อยากจะขอลองตีกลอง พระนางทนไม่ไหวพูดประชดทำนองว่า ถ้าอยากตีก็ตีไป เพราะคงจะไม่ได้พบกันอีกแล้ว บุญจันทร์หน้ามืดตามัวด้วยคิดว่านางมีใจให้เจ้าชายโฮลมาน ก็ไปตีกลอง เจ้าชายโฮลมานและไพร่พลก็ปรากฏตัวขึ้นทันที เพราะนึกว่าพระนางศรีจันทร์มีเหตุร้าย พระนางศรีจันทร์เสียใจมาก เมื่อต้องบอกถึงเหตุผลที่ตีกลองให้เจ้าชายทราบ เจ้าชายโฮลมานตำหนิพระนาง และเป็นอันสิ้นสุดสัญญาที่ให้ไว้กับพระนางทันที พระองค์จะไม่มาช่วยเหลือพระนางอีกแล้วแม้จะตีกลองเท่าไหร่ก็ตาม

          กล่าวฝ่ายพระราชาที่ส่งพรานป่าเจ็ดคน มาล่าสัตว์แล้วมาพบพระนางในตอนแรกนั้น ก็ส่งทัพมาล้อมเมืองภูมิโปนไว้ พระนางจึงหนีเข้าไปหลบภัยในปราสาทและคิดที่จะยอมตายเสียดีกว่า เพราะคนที่มาหลงรักพระนางแต่ละคนนั้น คนหนึ่งแม้จะเพียบพร้อมก็มีความอัปลักษณ์ คนหนึ่งก็มีความต่างศักดิ์ ด้านชนชั้นจนไม่อาจจะรักกันได้ และยังมีข้าศึกมาประชิดเมืองหมายจะเอาพระนางไปเป็นชายาอีก พระนางจึงพยายามหลบไปด้านที่มีการยิงปืนใหญ่ ตั้งใจจะโดนกระสุนให้ตาย แต่พระนางก็กลับไม่ตายแต่ได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายหักและมีแผลเหนือราวนมด้านซ้ายเล็กน้อย(ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านดม-ภูมิโปนจะสังเกตเด็กผู้หญิงคนใดมีลักษณะแขนด้านซ้ายเหมือนเคยหัก และมีแผลเป็นเหนือราวนมด้านซ้าย จะสันนิษฐานว่าพระนางด็อฮ ทม กลับชาติมาเกิด) เมื่อพระราชาตีเข้าเมืองได้จึงรีบรักษานาง ไม่ช้าพระนางก็หาย พระราชาจึงเตรียมยกทัพกลับและจะนำพระนางกลับเมืองด้วย พระนางจึงขออนุญาตพระราชาเป็นครั้งสุดท้ายขอไปอาบน้ำที่สระลำเจียก และปลูกต้นลำเจียกไว้กอหนึ่ง พร้อมกับอธิษฐานว่าถ้าพระนางยังไม่กลับมาที่นี่ขอให้ต้นลำเจียก อย่าได้ออกดอกอีกเลย หลังจากนั้นพระนางก็ถูกนำสู่นครทางทิศตะวันตก ไปทางบ้านศรีจรูก พักทัพและฆ่าหมูกินที่นั่น (ซี จรูกแปลว่ากินหมู) ทัพหลังตามไปทันที่บ้านทัพทัน (ซึ่งกลายเป็นชื่อบ้านในปัจจุบัน) และเดินทางต่อมายังบ้านลำดวน พักนอนที่นั่น มีการเลี้ยงฉลองรำไปล้มไป รำล้มในภาษาเขมรคือ เรือ็ม ดูล ซึ่งเป็นชื่อของ อ.ลำดวนในปัจจุบัน

         ดังนั้นคำว่าภูมิโปน จึงมีความหมายโดยรวมว่า หมู่บ้านแห่งการหลบซ่อน (ภูมิ แปลว่า หมู่บ้าน โปน แปลว่า หลบซ่อน อีกความหมายหนึ่งแปลว่า มะกอก)

ปราสาทศีขรภูมิ


          ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระธิดาทั้ง 3 (มี หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นต้น) ได้เดินทางมาเยือนเมื่อมกราคม - กุมภาพันธ์ 2472 (นับอย่างใหม่ต้องปี พ.ศ. 2473) และได้ถูกรวมเข้ากันกับอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ

ประวัติ

          จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้

          ปี พ.ศ.2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำ พระอาจารย์ของนักเรียนนายร้อย จปร. ได้มาศึกษาที่โบราณสถานแห่งนี้ และก็ได้มีการบูรณะปราสาทศีขรภูมิ ให้ดูงามเด่นเป็นสง่าน่าภาคภูมิใจแก่แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเมืองปราสาทหินโบราณแห่งนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

          ปราสาทศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศอลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

          ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมาโดยทับหลังชิ้นนับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ปราสาทช่างปี่



           ปราสาทช่างปี่ เป็นอโรคยศาล หรืออโรคยศาลา หรือโรงพยาบาล หนึ่งในจำนวน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ โปรดให้สร้างขึ้น ตั้งอยู่ที่บ้านช่างปี่ ตำบลช่างปี่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยนผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง และหินทราย

          ตั้งแต่ปี 2553 กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณะปราสาทช่างปี่ พบโปราณวัตถุจำนวนมา ส่วนหนึ่งนำไปเก็บรักษาไว้ (แต่ยังไม่ได้จัดแสดง: พฤษภาคม 2555) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อีกส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านช่างปี่

ปราสาทบ้านไพล


          ปราสาทบ้านไพล ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 6 ตำบลเชื้อเพลิง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนาสถานในชุมชน หรือสรุก เป็นปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมรอบ องค์ปราสาทมีแผนผังและขนาดเท่ากันทั้งสามองค์ คือ มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 4×4 เมตร มีประตูทางเข้าออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว ทับหลังของปราสาทองค์กลางและองค์ด้านทิศเหนือสลักเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่าหนือหน้ากาล ส่วนทับหลังปราสาทองค์ด้านทิศใต้สลักเป้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งปราสาทองค์ด้านทิศใต้พังทลายไปหมดสิ้นแล้ว

ปราสาทบ้านพลวง


          ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนสถานขนาดเล็ก หรือสรุก จำนวน 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างตามแบบศิลปะแบบบาปวนสร้างด้วยหินทรายสีขาวบนฐานศิลาแลง ล้อมรอบด้วยคูน้ำรูปตัวยู องค์ปราสาทมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร ฐานศิลาแลงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณ 8 x 23 เมตร สันนิษฐานกันว่า ด้วยฐานศิลาแลงขนาดใหญ่เพียงนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความตั้งใจสร้างให้มีปราสาท 3 องค์ บนฐานเดียวกัน แต่คงมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงคราม โรคระบาด ความแห้งแล้ง จึงส่งผลให้การสร้างปราสาทชะงักไป

          ปราสาทมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว อีกทางด้านเป็นประตูหลอก ทับหลังด้านตะวันออกและด้านใต้สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศเหนือสลักเป็นภาพพระศิวะปราบนาคกาลิยะ ส่วนทับหลังด้านตะวันตกยังไม่ได้สลักภาพใดๆ

           ปราสาทบ้านพลวงเป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ สังเกตได้จากภาพแกะสลักยังไม่เสร็จ โดยภาพส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของเทพปกรณัมในลัทธิไศวะนิกาย แต่มีการสลักภาพสัตว์ เช่น สลักภาพกระรอกกระแต และกวางป่าไว้เหนือใบระกาด้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่ปรากฏในปราสาทแห่งใด

           ปราสาทบ้านพลวง ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2514 - 2516 ด้วยวิธีอนัสติโลซีส คือการรื้อมาและประกอบเป็นจิกซอว์ขึ้นใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาดก็เติมหินเข้าไปใหม่ให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดกับลวดลายและศิลปะเดิมของปราสาท โดยนายแวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

ปราสาทเมืองที


          ปราสาทเมืองที ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองที หมู่ที่ ๑ ตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ ประกอบด้วยปรางค์ ๕ องค์ ก่อสร้างด้วยอิฐฉาบปูน ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ปัจจุบันหักพังเหลือเพียง ๓ องค์ คือ องค์กลาง องค์มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และองค์ด้านตะวันตกเฉียงใต้ องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากการดัดแปลงในสมัยต่อๆ มาส่วนยอดทำเป็นแบบตัวเรือนธาตุซ้อนกัน 3 ชั้น ส่วนบนหัก ที่เหลืออีก 2 องค์มีขนาดและลักษณะคล้ายคลึงกัน

          จากแผนผังและลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์ปรางค์ที่มีลักษณะผอมเรียว ปราสาทเมือง ทีจัดเป็นโบราณสถานศิลปะลาว ที่มีการสร้างขึ้นโดยคนในชุมชนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัย อยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 23 - 24
ที่มา:http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น